แพ็คเกจถ่ายพยาธิ และกำจัดเห็บ หมัด ในสุนัข
พยาธิในสุนัขแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยแบ่งตามแหล่งที่พยาธิอยู่อาศัยที่ตัวสัตว์ ได้แก่
- พยาธิภายใน คือ พยาธิที่อยู่ในตัวของสุนัข เช่น พยาธิไส้เดือน, พยาธิปากขอ, พยาธิแส้ม้า (whipworm), พยาธิตัวตืด (tapeworm), พยาธิหนอนหัวใจ
- พยาธิภายนอก คือ พยาธิที่อยู่นอกตัวของสุนัข เช่น ตัวไร เห็บ หมัด
พยาธิภายใน
ปัญหาสุขภาพของสุนัขที่หลายๆ มักคนมองข้าม เพราะมองไม่เห็นว่าสุนัขติด ตัวพยาธิเราก็ไม่เคยเห็น อาการป่วยก็ไม่มี ให้อาหารก็เป็นแบบสุก แล้วแบบนี้สุนัขที่เราเลี้ยงจะเป็นพยาธิได้ไหม คำตอบจากหมอ คือ ไม่ทราบ
ต้องแยกความหมายของคำว่า “ติดพยาธิ” และ “ป่วยจากการติดพยาธิ” ความเหมือนของทั้งสองคำนี้คือ ติดพยาธิเหมือนกัน แต่ส่วนที่ต่างคือจะป่วยหรือไม่ป่วยก็ได้ ส่วนที่ป่วยก็อาจแสดงความผิดปกติน้อยมากไปจนถึงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
พยาธิภายในสุนัขมีกี่ชนิด
- พยาธิไส้เดือน ที่ชื่อนี้เพราะมีหน้าตาคล้ายไส้เดือนที่ไปอยู่ในลำไส้สุนัข แต่มีบางช่วงที่เป็นตัวอ่อนจะสามารถชอนไชไปที่ปอด ตับ ทำให้ปอดและตับอักเสบได้ ส่วนตัวที่อยู่ในลำไส้ก็จะคอยแย่งอาหาร อุดตันทางเดินอาหาร ถ้ามีพยาธิจำนวนมากก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
- พยาธิปากขอ ที่ชื่อนี้เพราะปากพยาธิจะมีส่วนที่ใช้ยึดเกาะกับผนังลำไส้ พอเกาะแล้วก็จะคอยดูดเลือด เมื่อสุนัขเสียเลือดไปเรื่อยๆ ก็จะอ่อนแอและป่วยตามมา
- พยาธิแส้ม้า (whipworm) ที่ได้ชื่อนี้มาเพราะมีหน้าตารูปร่างเหมือนแส้ตีม้า พยาธินี้จะอาศัยอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ของสุนัข ทำให้สุนัขท้องเสีย อุจจาระมีกลิ่นเหม็นคาว
- พยาธิตัวตืด (tapeworm) ดูจากชื่อภาษาอังกฤษน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า คือ tapeworm จะมีลักษณะเป็นแผ่นๆ แบน และมีความพิเศษคือ ตัวพยาธิจะมีลักษณะเป็นปล้องๆ เหมือนตู้รถไฟ ภายในมีไข่พยาธิจำนวนมากบรรจุอยู่ ในสุนัขบางตัวจะเห็นว่ามีเส้นสีขาวๆ อมชมพูติดอยู่รอบรูทวารหรือขนบริเวณนั้น ร่วมกับอาการนั่งเอาตูดถูพื้น หากใครเคยเห็นให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าสุนัขมีพยาธิแน่นอน พยาธิชนิดนี้ทำให้สุนัขออ่อนแอ ปวดท้อง ซึม
- พยาธิหนอนหัวใจ (heartworm) หากไม่เคยรู้จักแต่ก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่าพยาธิชนิดนี้อาศัยอยู่ที่หัวใจของสุนัข ความพิเศษของการติดพยาธินี้ คือ ติดมาจากยุงกัด ไม่เหมือนกับพยาธิอื่นๆ ที่มักติดต่อผ่านทางการกิน ผลต่อตัวสุนัขก็จะต่างออกไป คือ มีอาการไอแห้ง รบกวนระบบไหลเวียนเลือด เหนื่อยง่าย และอาจรุนแรงไปถึงหัวใจล้มเหลว
อย่างที่กล่าวไปในช่วงแรก สุนัขที่ติดพยาธิอาจไม่ได้ป่วย หรือจริงๆ แล้ว เพียงแค่ยังไม่ถึงเวลาแสดงอาการป่วย ดังนั้น วิธีการรักษาและป้องกันที่ง่ายที่สุดคือ ควรพาสุนัขมาถ่ายพยาธิอย่างน้อยทุก 6 เดือน หรือถ้าหากมีอาการต้องสงสัยก็สามารถมาตรวจไข่พยาธิในอุจจาระได้ หากพบว่าติดพยาธิ หมอก็สามารถจัดยารักษาได้เช่นกันโดยไม่ต้องรอถึง 6 เดือน
พยาธิภายนอก
สามารถสังเกตอาการของสุนัขที่ติดได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาการคัน เกา ขนร่วง ร่วมกับสามารถสังเกตเห็นตัวเห็บ หมัด เกาะอยู่ผิวหนัง โรคจากพยาธิภายนอกที่มักพบ ได้แก่
- ขี้เรื้อนดีโมเดกซ์ (Demodicosis) หรือ ขี้เรื้อนแบบเปียก สุนัขมีอาการขนร่วงบริเวณใบหน้า ศรีษะแก้ม ริมฝีปาก รอบตาและขา ผิวหนังอักเสบเปียกเยิ้ม ขนร่วงรุนแรงจนเห็นผิวหนัง
- ขี้เรื้อนซาร์คอพติค (Sarcoptic mange) หรือ ขี้เรื้อนแบบแห้ง สุนัขจะคันมาก เกาไม่หยุดจนกระทบการใช้ชีวิต ไม่เป็นอันกินอันนอน
- ไรในช่องหู จะทำให้สุนัขคันหู เกาหู เดินไปสักพักก็หยุดเพื่อเกาหู บางตัวเกาจนใบหูอักเสบ หูบวม
- หมัด เป็นปรสิตจำพวกแมลงที่อาศัยอยู่บนผิวหนังและขนของสุนัข จะคอยกัดและดูดกินเลือด ทำให้สุนัขคัน เกา สร้างความรำคาญ ในสุนัขบางตัวจะแพ้น้ำลายหมัดร่วมด้วย
- เห็บ เป็นปรสิตที่อาศัยอยู่บนผิวหนังและคอยดูดกินเลือดสุนัขเช่นเดียวกับหมัด ทำให้สุนัขคัน เกา บางตัวสูญเสียเลือดจำนวนมากจนเกิดภาวะเลือดจางได้ และที่สำคัญคือเป็นพาหะของโรคพยาธิเม็ดเลือดที่เป็นปัญหาทำให้สุนัขถึงขั้นเสียชีวิตได้
ปัจจุบันยาที่ได้รับความนิยมเพื่อป้องกันและรักษาพยาธิภายนอก ไม่ว่าจะเป็นไรขี้เรื้อน หมัด เห็บ จะเป็นยาในรูปแบบกิน หรือหยดหลัง ถือว่ามีประสิทธิภาพดีมากเมื่อเทียบกับในอดีตที่เป็นแบบฉีด ผู้เลี้ยงสามารถหาซื้อไปใช้งานได้ตามความสะดวก