นกไข่ค้าง อาการเป็นยังไง? อันตรายหรือไม่?
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ มีสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการรักษานกไข่ค้าง (Egg Binding in Birds) ซึ่งเป็นอาการที่สามารถพบได้ในนกเพศเมีย เกิดขึ้นเมื่อมีไข่ค้างอยู่ในร่างกายของนก ถ้าสังเกตอาการของนกที่มีภาวะไข่ค้างได้เร็ว และพานกมารักษาได้ทันท่วงที ก็ค่อนข้างที่จะปลอดภัยต่อชีวิต แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน การรักษาจะยิ่งยากขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของนก
บริการรักษานกป่วย
สาเหตุของนกไข่ค้าง
ภาวะนกไข่ค้างเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งในบางกรณีอาจเป็นอันตรายต่อนกได้ นกที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงมักมีโอกาสเกิดภาวะไข่ค้างสูง โดยเฉพาะนกที่มีปัญหาเรื่องการกินอาหารที่เหมาะกับนก ทำให้นกขาดวิตามิน ขาดแคลเซียม หรือไม่ได้รับแสงแดดเพียงพอ
ปัจจัยอื่นๆที่อาจทำให้เกิดอาการนกไข่ค้าง ได้แก่ ปัญหาทางพันธุกรรมของนก เคยได้รับอุบัติเหตุ หรือนกที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม เช่น นกที่อ้วนเกินไป ขาดการออกกำลังกาย หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีโอกาสเกิดภาวะไข่ค้างสูง
การไข่ที่มีรูปร่างผิดปกติ มีขนาดใหญ่เกินไป ไข่มีเปลือกอ่อน นกขาดรังวางไข่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการวางไข่ เช่น เสียงดังรบกวน ก็สามารถทำให้นกเกิดภาวะไข่ค้างในร่างกายนกได้
นกไข่ค้าง อาการเป็นอย่างไร?
เมื่อนกเกิดภาวะไข่ค้าง อาการที่นกแสดงออกอาจแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิดไข่ค้างและสาเหตุของการค้างของไข่ นกอาจแสดงอาการเซื่องซึม ไม่มีแรง หรือไม่กินอาหาร นอกจากนี้ ไข่ที่ค้างอาจกดเบียดถุงลมส่วนช่องท้อง ทำให้นกหายใจลำบากและมีอาการหายใจเร็ว ถ้าไข่ที่ค้างอยู่ในช่องท้อง อาจเห็นว่าช่วงท้ายลำตัวของนกมีขนาดที่ขยายจากไปเดิม บางครั้งอาจรู้สึกถึงไข่ที่ค้างอยู่ในช่องลำตัวนกเมื่อคลำจับดู แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่สามารถตรวจพบได้
ในบางกรณี อาจพบภาวะนกไส้ทะลัก ซึ่งเป็นสภาวะที่ไส้ตกออกมาที่ช่องทวาร หากไข่ค้างกดเบียดเส้นประสาท นกอาจแสดงอาการขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้ หรือถ่ายออกในปริมาณน้อย ถ้าไข่ที่ค้างกดเบียดเส้นเลือดและเส้นประสาทที่เชิงกราน จะทำให้นกมีอาการปวดหรือมีปัญหาทางระบบประสาท
เมื่อเจ้าของนกสังเกตุเห็นถึงการผิดปกติของนกตามอาการดังกล่าว ควรรีบนำไปโรงพยาบาลนกเพื่อทำการตรวจสอบและรักษาได้ทันท่วงที
วิธีการรักษานกที่มีภาวะไข่ค้าง
การวินิจฉัยภาวะไข่ค้างในนกสามารถทำได้โดยการใช้มือคลำดู หรือใช้เครื่อง x-ray หรือ ultrasound นก เพื่อดูตำแหน่งและสภาพของไข่ที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกายนก หมอรักษานกอาจการให้ยาลดปวด เนื่องจากนกที่ไข่ค้างจะเกิดความเจ็บปวด การช่วยนำไข่ออกมาจากร่างกายนกขึ้นอยู่กับกรณี อาจทำได้โดยการนำไข่ออกมาทั้งใบ หรือการเจาะไข่ให้แตกแล้วนำเปลือกไข่ออกมา
ในบางกรณี การรอให้ไข่ออกเองอาจไม่เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากถ้ารอนานเกินไป นกอาจจะโทรมและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้น เมื่อพบว่านกมีอาการผิดปกติจากอาการไข่ค้าง ควรรีบนำนกไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที การที่เจ้าของนกพยายามนำไข่ออกมาเองอาจทำให้นกได้รับความเจ็บปวดมากขึ้นและเสียชีวิตได้
สิ่งที่สัตวแพทย์มักทำเมื่อนกมีภาวะไข่ค้าง คือ ให้ยาสลบ ให้สารน้ำ ให้ออกซิเจน ให้ยาลดปวด เฝ้าระวังการติดเชื้อ หรือใช้สารหล่อลื่นเพื่อนำไข่ทั้งใบออกมา สำหรับกรณีที่ไม่สามารถนำไข่ออกมาได้ด้วยวิธีดังกล่าว สัตวแพทย์อาจต้องทำการเจาะไข่และดูดเนื้อในไข่ออก แล้วหยิบเปลือกไข่ออกจากร่างกายนก
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital) มีหมอรักษานกที่มีประสบการณ์เป็นสัตวแพทย์ประจำ มีให้บริการตรวจสุขภาพนก ตัดปากนกที่ยาวผิดปกติ รักษานกป่วยจากสาเหตุต่างๆที่เกิดขึ้นกับนก เช่น นกไข่ค้าง นกเป็นหวัด นกท้องเสีย นกเป็นโรคไร นกกระดูกบาง นกตับโต เป็นต้น
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital)
214 ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 10 (รามอินทรา 14) จรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230