รักษาโรคหัวใจสุนัข
ในฉากละครไทย เมื่อพ่อตบหน้าพระเอกที่ไปรักกับหญิงสาวสามัญชนฐานะต่ำต้อย และไม่ยอมแต่งงานกับคู่หมั้นสูงศักดิ์ที่พ่อแม่เตรียมไว้ให้ หลังจากนั้นไม่นาน ด้วยการกระทบกระเทือนทางจิตใจที่ได้ตบหน้าลูกชายไป พ่อพระเอกก็เริ่มเอามือกุมหัวใจ แน่นหน้าอก แล้วก็ล้มลงไปกับพื้น และ….พักโฆษณา…
สำหรับในสุนัขนั้น ถึงแม้พ่อสุนัขจะกัดลูกตัวเองเพื่อแย่งอาหาร ก็คงไม่ได้กระทบกระเทือนทางจิตใจจนทำให้อาการโรคหัวใจกำเริบมากนัก แต่ก็ใช่ว่าสุนัขจะไม่มีโรคหัวใจ เพราะโรคนี้ถือเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอๆ ทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว อาจเพราะไม่ได้สังเกตอาการ หรืออาการที่มีก็สังเกตยาก หลังจากเจออาการต้องสงสัยแล้ว การจะตรวจยืนยันให้รู้ว่าเป็นโรคหัวใจแน่ๆ ก็ต้องใช้แพทย์ผู้มีความชำนาญและเครื่องมือทางการแพทย์ประกอบการตรวจ วันนี้โรงพยาบาลสัตว์ดารินรักษ์ขอมาให้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นเกี่ยวกับโรคหัวใจในสุนัข
“เปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือ มีบ้านหลังหนึ่ง ประปาจากทางการเข้าถึงหน้าบ้าน ระบบท่อน้ำต่างๆ ในบ้านพร้อมใช้ แต่เครื่องปั๊มน้ำมีปัญหา สุดท้ายบ้านนี้ก็ไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ” หมายความว่า สุนัขตัวหนึ่งอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายสมบูรณ์ดี แต่หัวใจมีปัญหาไม่สามารสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ เปรียบเหมือนเครื่องปั๊มน้ำพัง สุดท้ายร่างกายก็มีปัญหาอื่นตามมา
อาการของสุนัขที่เป็นโรคหัวใจ
- เหนื่อยง่าย หายใจหอบ ไม่ได้ออกกำลังหรืออากาศไม่ร้อนก็หายใจหอบ
- อ่อนเพลีย ไม่ร่าเริง เบื่ออาหาร เพราะหายใจได้ไม่เพียงพอ หรือมีอาการไอรบกวนการพักผ่อน
- เป็นลม หากระดับของโรครุนแรง หรือ มีอาการออกกำลังไม่เหมาะสม
- ไอ มีลักษณะไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ไอบ่อยรักษาอาการไอไม่หาย
- ท้องมานหรือท้องกาง เป็นลักษณะที่เกิดจากมีน้ำขังในช่องท้อง ซึ่งเกิดตามมาจากการที่หัวใจผิดปกติ
การตรวจโรคหัวใจในสุนัข
- ฟังเสียงหัวใจ
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- เอ็กซเรย์ช่องอก
- อัลตราซาวด์หัวใจ
- ตรวจลเลือด (กรณีสงสัยพยาธิหนอนหัวใจ)
การรักษาโรคหัวใจสุนัข
โรคหัวใจในสุนัขไม่ได้มีการรักษาให้หายขาดได้ การรักษาโรคหัวใจสุนัขจึงเป็นรูปแบบการให้ยาร่วมกับการดูแลจัดการเพื่อประคองอาการให้เท่าเดิมหรือไม่ให้อาการแย่ลง ทั้งนี้เพื่อให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
การดูแลสุนัขที่เป็นโรคหัวใจ
- ออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ เช่น เดินเล่นเบาๆ เป็นประจำ
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป ถ้าอ้วนสุนัขจะหายใจลำบาก ลำพังเป็นโรคหัวใจก็หายใจลำบากอยู่แล้ว ถ้ามีภาวะอ้วนอีกก็จะกระทบต่อชีวิตอย่างมาก
- สังเกตอาการ เช่น อัตราการหายใจ ลักษณะเหนื่อยหอบที่ผิดปกติ อาการไอ เป็นต้น และพามาพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งคุณหมอจะได้จัดยาให้อย่างเหมาะสมต่ออาการ
หวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้เลี้ยงสุนัขสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนได้ หากสงสัยหรือกังวลว่าน้องมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ก็สามารถพาน้องหมามาตรวจได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ดารินรักษ์ คุณหมอและทีมงานยินดีให้บริการค่ะ