ตรวจสุขภาพนก
การเลี้ยงนกเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน มีผู้เลี้ยงมากมายที่ให้ความสนใจ อีกทั้งยังมีนกมากมายหลากหลายชนิดให้เลือกเลี้ยงตามชอบใจ เช่น นกแก้วสายพันธุ์ต่างๆ นกฟอพัส นกเอี้ยง นกเลิฟเบิร์ด นกหงส์หยก นกซันคอนัวร์ เป็นต้น
ซึ่งแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นนกเลี้ยง แต่นกเหล่านั้นก็ยังจะมีธรรมชาติของความเป็นสัตว์ป่าอยู่ แม้ว่าจะถูกเลี้ยงจากมนุษย์มาตั้งแต่เด็กก็ตาม ทั้งเรื่องของพฤติกรรมการมีลำดับสังคม การไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นอย่างชัดเจนหรือเรียกว่าการอมโรค การไม่ชอบถูกจับบังคับ สิ่งเหล่านี้เจ้าของต้องเลี้ยงอย่างเข้าใจและหมั่นสังเกตความผิดปกติ
วิธีหนึ่งในการเฝ้าระวังอาการป่วยในนก คือ การรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แม้นกจะไม่ค่อยแสดงอาการจนกว่าจะป่วยหนัก แต่ทุกการป่วยย่อมมีจุดเริ่มต้นให้สังเกต ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นหรือไม่ ถ้าหากรู้สังเกตได้เร็วก็อาจรักษาได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น การตรวจสุขภาพนกจึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก หากจะกล่าวว่า “การตรวจสุขภาพนก” ราคาถูกกว่า “การรักษานก” และให้ผลดีต่อนกมากกว่า ก็ดูจะไม่เกินจริงมากนัก
วันนี้โรงพยาบาลสัตว์ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital) มีให้บริการตรวจสุขภาพนก จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นเรื่องการตรวจสุขภาพของนก และมีคำตอบเกี่ยวกับคำถามที่มักมีคนส่งสัย เช่น นกขนฟู ซึม ไม่มีแรง ขี้นกสีเขียวเข้ม นกป่วยอาการอย่างไร พร้อมแล้วไปดูกันเลย
นกป่วย มีอาการอย่างไร?
- ความร่าเริงลดลง ซึม ไม่มีแรง
- ขนฟู มีคราบสกปรกติดตามขน ไม่แต่งตัว
- นกกินอาหารน้อยลง
- ไอ จาม มีน้ำมูก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงผิดปกติ
- สิ่งขับถ่ายผิดปกติ ลักษณะเหลวขึ้น
- กลิ่นและสีเปลี่ยนไป แต่บางครั้งจะต้องประเมินเป็นกรณีๆไป เนื่องจากสีและกลิ่นอาจเกี่ยวข้องกับชนิดอาหารที่กิน
- มีสัดส่วนองค์ประกอบผิดเพี้ยนไป ได้แก่ ส่วนน้ำปัสสาวะ(urine) ส่วนมูล(feces) และส่วนยูเร็ต(urate)
- มีลักษณะเป็นเมือก ข้น กว่าปกติ
ตรวจสุขภาพนก มีขั้นตอนอะไรบ้าง
- สัตวแพทย์จะแยกประเภทของนกที่มาตรวจสุขภาพว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
- นกสุขภาพดี (Healthy birds)
- นกติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการป่วย ซึ่งอาจมีสถานะเป็นพาหะนำโรค หรือ อมโรค (Subclinical infection birds)
- นกแสดงอาการป่วยไม่ชัดเจน ยังไม่สามารุระบุโรคได้ (Ill birds demonstrating signs of disease)
- นกแสดงอาการป่วยชัดเจน (Ill birds showing signs of disease)
- การซักประวัติ ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญมากเพื่อประเมินความผิดปกติในนก เช่น นกผิดปกติมาแล้วกี่วัน ก่อนที่จะป่วยมีการเปลี่ยนอาหารอย่างไรบ้าง ปัจจัยที่ทำให้นกเกิดความเครียดต่างๆ มีนกตัวใหม่เข้ามาในฝูงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มักจะมีแต่เจ้าของที่รู้และมักจะเป็นสาเหตุการป่วยในหลายๆ ครั้ง
- การตรวจวินิจฉัย จะใช้หลัก ABC
- A : Appearance คือ การสังเกตอาการ ท่าทาง อัตราการหายใจ โดยหากเป็นไปได้ให้ตรวจนกภายในกรงหรือกล่องที่พานกมา หรือให้ปล่อยนกไว้ในกรงแล้วสังเกตอยู่ห่างๆ
- B : Behaviors คือ ดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ซึม ไม่ตกแต่งขน ไม่เกาะเจ้าของ เป็นต้น
- C : Coprology คือ ตรวจลักษณะของสิ่งขับถ่าย เช่น ส่วนประกอบ สี กลิ่น ความข้น
- การตรวจอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น X-ray ตรวจเลือดนก การตรวจสมดุลเชื้อในมูล โดยสัตวแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมและความพร้อมของร่างกายนก บางครั้งจะพบว่านกไม่ยอมให้จับบังคับ ถ้าฝืนทำ X-ray หรือเจาะเลือดก็อาจทำให้นกตายได้
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์
(Darin Animal Hospital)