14 ข้อมูลกระต่าย เกี่ยวกับด้านกายภาพ โดย หมอมิงค์
ข้อมูลด้านกายภาพของกระต่าย โดย สพ.ญ. ภาวิดา วิภูสันติ (หมอมิงค์) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital) รามอินทรา 14 เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของกระต่ายที่อยากรู้จักกระต่ายที่เลี้ยงมากขึ้น
1. กระต่าย vs หนู
- กระต่ายแตกต่างจากหนู โดยกระต่ายมีฟันหน้า (Incisor) ที่ขากรรไกรบน 2 คู่ ขณะที่หนูมีเพียงคู่เดียว
- กระต่ายเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มี Fusus coli คือรอยต่อของ Proximal colon กับ Distal colon (ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น และลำไส้ใหญ่ส่วนท้าย)
- กระต่ายไม่มี footpad เหมือนในสุนัข มีแค่ขนปกคลุมตั้งแต่นิ้วจนถึงข้อศอกหรือข้อเข่า จึงมักจะเกิด Pododermatitis (แผลที่ฝ่าเท้า) ได้ง่าย
2. กระต่ายมีต่อมกลิ่น 3 ตำแหน่ง
กระต่ายมี Scent glands (Marking glands) หรือเรียกว่าต่อมกลิ่น 3 ตำแหน่ง โดยมีในทั้งกระต่ายตัวผู้และตัวเมีย คือ Chin gland, anal gland และ inguinal gland เพื่อแสดงอาณาเขตและทำสัญลักษณ์บนตัวลูก หากเป็นลูกตัวอื่นอาจจะทำร้ายจนเสียชีวิตได้
3. กระต่ายมองด้านข้างได้กว้าง มองล่างได้น้อย
กระต่ายจะมองไปด้านข้างได้กว้างกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ แต่มองข้างล่างได้น้อย ดังนั้นเวลากิน กระต่ายจะรับความรู้สึกด้วยริมฝีปากแทน
4. กระดูกกระต่ายมีน้ำหนักเบา
โครงกระดูกกระต่ายมีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับกล้ามเนื้อ (โครงกระดูกมีเพียง 7-8% ของน้ำหนักตัว) เพราะฉะนั้นกระดูกหลังก็จะหักง่าย ต้องระวัง และกระต่ายถ้าไม่มีขาหน้าจะมีชีวิตรอดน้อย เค้าจะใช้หน้าไถพื้น (ขาหน้าใช้ค้ำยันและเป็นตัวนำทาง)
5. ขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ
กระต่ายจะขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะโดยตรง และปริมาณของแคลเซียมจะสัมพันธ์กับปริมาณของแคลเซียมในซีรั่ม (เลือด) ดังนั้นปัสสาวะจึงมักจะมีสีขุ่นครีม และหนาจากตะกอนของเกลือแคลเซียมคาร์บอเนต
6. ฟันหน้าจะยาวเร็วกว่าฟันอื่นๆ
ฟันหน้า (Incisor) และฟันเคี้ยว (cheek teeth) จะงอกยาวขึ้นเรื่อยๆ หากฟันไม่สึกตามปกติจะทำให้ฟันงอกยาวขึ้นเรื่อยๆ เกิดภาวะของฟันที่สึกไม่ปกติ หรือที่เราเรียกว่า Malocclusion ทำให้เป็นแผลในกระพุ้งแก้มและช่องปาก
7. กระต่ายเรอหรืออาเจียนไม่ได้
ลักษณะของทางเดินอาหารของกระต่าย ประกอบด้วย หลอดอาหาร หูรูดกระเพาะอาหาร (cardia) และส่วนกระเพาะอาหารส่วนท้ายที่เปิดเข้าสู่ส่วนลำไส้เล็ก (pylorus) เป็นส่วนที่แข็งและหนาตัวมาก จึงทำให้กระต่ายเรอหรืออาเจียนไม่ได้
8. กระต่ายควรกินอาหารหยาบเป็นหลัก
กระต่ายเป็นพวก hind gut fermentation (หมักย่อยที่ระบบทางเดินอาหารส่วนท้าย) อาหารหลักจึงเป็นอาหารหยาบ ที่มีกากอาหารสูงกว่า 20% ซึ่งได้แก่ หญ้า หรือ พืชที่ให้ความหยาบสูง เป็นอาหารหลัก ไม่ใช่ผักหรือผลไม้
9. กระต่ายหายใจผ่านจมูก
กระต่ายหายใจผ่านจมูกเป็นส่วนสำคัญ ใช้ระบบทางเดินหายใจเป็นตัวระบายความร้อน โดยหูระบายความร้อนได้แค่ 12 % ขณะที่ใช้การหายใจผ่านจมูกระบายความร้อนที่เหลือทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องระวังกระต่ายไม่ให้เกิดโรคลมแดด หรือ Heat stoke เนื่องจากจะทำให้กระต่ายมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก
10. ไม่ควรเลี้ยงรวมกับสัตว์บางชนิด
ไม่ควรเลี้ยงกระต่ายรวมกับสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะหนูแกสบี้ (guinea pig) เพราะกระต่ายเป็นสัตว์ที่นำพาเชื้อ Bordetella bronchiseptica ถ้าติดไปที่หนูแกสบี้จะรุนแรงมาก ทำให้หนูแกสบี้มีโอกาสเสียชีวิตเพราะโรคปอด
11. กระต่ายมีเต้านมทั้งหมด 5 คู่ (โดยหัวนมพบเฉพาะในตัวเมีย)
12. กระต่ายหายใจ 30-60 ครั้งต่อนาที หัวใจเต้น 180-300 ครั้งต่อนาที และอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 38.5-40 องศาเซลเซียส
13. ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 1 เดือน
กระต่ายมีระยะเวลาในการตั้งท้อง คือ 28-32 วัน และจำนวนลูกต่อครอก ในสายพันธุ์เล็กเท่ากับ 4-5 ตัว และในสายพันธุ์ใหญ่ 8-12 ตัว โดยมักจะคลอดในตอนเช้ามืด ก่อนคลอดจะถอนขนทํารัง มีพฤติกรรมแบบนี้ก่อนคลอดไม่ชั่วโมงจนถึงเป็นวัน
14. ลูกกระต่ายจะอยู่ในรังประมาณ 3 สัปดาห์
หลังจากที่กระต่ายคลอดลูกแล้ว ลูกกระต่ายจะใช้เวลาอยู่ในรังประมาณ 3 สัปดาห์ โดยแม่กระต่ายจะเป็นผู้ให้นมและเลี้ยงลูก เพียงวันละ 3-5 นาทีเท่านั้น ในช่วงนั้นลูกกระต่ายจะดูดนมได้มาก ประมาณ 15-20% ของน้ำหนักตัว
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital)
214 ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 10 (รามอินทรา 14) แขวงจรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230