โรคไตในสุนัขและแมว
สุนัขและแมวอายุที่มาก กินน้ำน้อย มีเห็บ และบางพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคไตในสุนัขและแมว บทความนี้จะเป็นการให้ข้อมูลเพื่อที่เจ้าของจะสามารถสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของท่านว่าเสี่ยงต่อโรคไตหรือไม่ แม้ว่าโรคนี้จะยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่ถ้าตรวจเจอโรคได้เร็ว ก็สามารถให้การรักษาสุนัขและแมวในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสุนัขและแมว
อาการของโรค
- ซึม ไม่กินอาหาร เบื่ออาหาร (ข้อนี้มักเป็นอาการของหลายๆ โรค แต่แทบจะ 100% ที่เป็นโรคไตมักเริ่มต้นด้วยอาการนี้)
- น้ำหนักลด ตัวผอม
- กินน้ำเยอะกว่าปกติ
- ปัสสาวะมาก หรือ ไม่ปัสสาวะ แล้วแต่ว่าความรุนแรงของโรคอยู่ระดับใด
- อาเจียน
- ปากมีกลิ่นเหม็น (เป็นกลิ่นเฉพาะของโรคไต) และหากรุนแรงอาจร่วมกับการมีแผลหลุมในปาก
- ถ่ายปนเลือด ถ่ายสีดำ
การตรวจโรคไต
ในสมัยก่อนการตรวจหลักที่ใช้บ่งบอกการสูญเสียฟังก์ชั่นการทำงานของไต คือ ค่า creatinine จะสูงขึ้นเมื่อไตเสียหายมากกว่า 75% ร่วมกับค่า BUN ซึ่งเป็นค่าของเสียในเลือดที่ไตต้องกรองออก หากมีระดับเกินค่ามาตรฐานจะพิจารณาว่ามีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคไต
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจโรคไตในสุนัขและแมววิธีใหม่ คือ การตรวจค่า Symmetric dimethyl arginine หรือ SDMA ซึ่งจะขึ้นสูงเมื่อไตเสียหาย 25-40% (เร็วกว่าการตรวจแบบเดิม คือ creatinine 2.2-2.5 เท่า!) แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันก็ยังสามารถใช้วิธีการตรวจทั้งสองแบบเพื่อประกอบการพิจารณารักษาได้
การรักษาโรคไตในสุนัขและแมว
สุนัขหรือแมวเป็นโรคไตรักษาหายไหม? ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไตโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการและระดับความรุนแรงของโรคไต เช่น ให้น้ำเกลือ ให้ยาต้านอาเจียน ควบคุมอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ควรได้รับการวินิจฉัยและให้คำแนะนำจากสัตวแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาทานเองเพราะมักจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นหากให้การรักษาไม่เหมาะสม
กลุ่มสุนัขและแมวที่เสี่ยงต่อโรค
- สุนัขและแมวที่มีอายุย่างเข้าสู่วัยชรา
- พฤติกรรมการกินน้ำน้อย ทั้งจากพฤติกรรมของตัวสัตว์เอง และจากสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงที่ไม่เอื้ออำนวยให้สัตว์กินน้ำ
- ทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีน หรืออาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง
- พันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง :
- สุนัข : English cocker spanial, Bull terrier, German shepherd
- แมว : Persian
- สุนัขที่มีเห็บ หรือประวัติเคยมีเห็บ หรือสุนัขที่ติดพยาธิเม็ดเลือด
- การเลี้ยงปล่อยนอกบ้าน / อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงรับสารเคมีต่างๆ เช่น สารฆ่าเชื้อ, สารตะกั่ว, สารต้านการเยือกแข็ง (antifreeze), ยารักษาโรคของมนุษย์
หากสัตว์เลี้ยงของท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีประวัติต้องสงสัย ขอแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองโรคไต เพื่อป้องกันไม่ให้พบโรคในตอนที่สายเกินแก้
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital) มีบริการตรวจคัดกรองและรักษาโรคไต มีทีมสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ดูแลให้คำแนะนำแก่เจ้าของสัตว์เลี้ยง พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย สถานที่สะอาดปลอดภัย จึงมั่นใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงของท่านจะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
“ตรวจสุขภาพแมวเบื้องต้น” โดย สพ.ญ. ภาวิดา วิภูสันติ (หมอมิงค์)
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์
(Darin Animal Hospital)
214 ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 10 (ซ.มัยลาภ / รามอินทรา 14) แขวงจรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230