ตัดฟันกระต่าย กรอฟันกระต่าย
การตัดฟันกระต่ายและกรอฟันกระต่ายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกระต่ายที่มีฟันยาวผิดปกติ โดยเฉพาะฟันกระต่ายที่ยาวมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของกระต่าย โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital) มีหมอรักษากระต่ายที่เป็นสัตวแพทย์ประจำ มีประสบการณ์ในการตัดฟันและกรอฟันให้น้องกระต่าย เพื่อให้บริการลูกค้าทุกท่าน
ตัดฟันกระต่าย กรอฟันกระต่าย
การดูแลฟันกระต่ายเป็นเรื่องที่เจ้าของกระต่ายควรให้ความสำคัญ เนื่องจากฟันของกระต่ายโดยเฉพาะฟันหน้าจะยาวเร็วกว่าสุนัขและแมว การที่กระต่ายฟันยาวผิดปกติจะทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการกินอาหาร และหากฟันยาวจนเกินไป อาจทำให้กระต่ายเกิดแผลในช่องปาก ฝีบริเวณเหงือก และเป็นสาเหตุทางอ้อมของปัญหาระบบทางเดินอาหารได้เช่นกัน
ทำไมฟันกระต่ายยาวจนต้องตัดฟันหรือกรอฟัน
กระต่ายมีฟันทั้งหมด 28 ซี่ ซึ่งแต่ละซี่จะยังคงงอกยาวไปตลอดชีวิต การงอกนี้ทำให้กระต่ายต้องมีการเคี้ยวอาหารที่มีใยสูง เช่น หญ้าแห้งบางชนิด เพื่อให้ฟันกระต่ายถูกขัดกร่อนให้สั้นลงอย่างสม่ำเสมอ แต่หากฟันไม่ถูกขัดกร่อนอย่างเหมาะสม กระต่ายจะมีฟันยาวเกินไปและมีปัญหาในการกินอาหาร ปัญหาในช่องปาก และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้อีกมากมาย
ฟันกระต่ายมีความแตกต่างจากฟันสุนัขและฟันของแมว ฟันของกระต่ายจะงอกยาวอยู่ตลอดเวลา โดยปกติแล้วฟันหน้าจะยาวเพิ่มขึ้น 1 ซม. ต่อเดือน ส่วนฟันด้านข้างจะยาว 1 ซม. ต่อ 3 เดือน ซึ่งแตกต่างจากสุนัขหรือแมวที่ฟันจะหยุดงอกหรือยาวขึ้นเมื่อโตเต็มวัย
สาเหตุและอาการของกระต่ายที่ฟันผิดปกติ
กระต่ายบางตัวอาจมีปัญหาฟันที่ไม่ปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ฟันยาวเกินปกติ ฟันไม่เป็นเส้นตรงหรือฟันหัก สาเหตุที่ทำให้ฟันของกระต่ายมีปัญหาอาจมาจากปัจจัยพันธุกรรม อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ รวมไปถึงการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมักส่งผลให้ฟันกระต่ายไม่ได้ถูกขัดกร่อนอย่างสม่ำเสมอ
กระต่ายที่มีฟันผิดปกติอาจแสดงอาการดังต่อไปนี้ เช่น ฟันยาวเกินไป จนทำให้ไม่สามารถปิดงับปากได้ตามปกติ ต่อมาจะเห็นว่ากระต่ายมีน้ำลายเปียกบริเวณคอและอก กระต่ายกินน้อยลง เนื่องจากปวดหรือไม่สามารถเคี้ยวได้ และน้ำหนักลดลงผิดปกติ และสุดท้ายจะนำไปสู่ปัญหาระบบทางเดินอาหารเนื่องจากกินอาหารไม่ได้เป็นต้น
วิธีการตัดฟันกระต่าย กรอฟันกระต่าย
การตัดฟันกระต่ายหรือกรอฟันกระต่ายควรทำโดยสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ โดยใช้เครื่องมือพิเศษเฉพาะสำหรับการตัดฟัน/กรอฟันของกระต่าย เช่น เครื่องกรอฟันกระต่าย เลื่อยตัดฟันกระต่าย อุปกรณ์ในการง้างปาก เครื่องวางยาสลบ เป็นต้น และดำเนินการในห้องผ่าตัดปลอดเชื้อ
ขั้นตอนการตัดฟันกระต่ายและกรอฟันกระต่าย
- ตรวจร่างกายกระต่ายจากภายนอก คุณหมอจะใช้อุปกรณ์ otoscope ร่วมกับหัวส่องตรวจช่องปาก เพื่อในการส่องตรวจฟันด้านใน
- เอกซเรย์ (x-ray) กระต่ายเพื่อดูโครงสร้างและลักษณะของรากฟันและฟันภายใน
- ดมยาสลบเพื่อให้กระต่ายไม่เกิดอาการเกร็งและสะดวกต่อการปฏิบัติงานของสัตวแพทย์ ในบางครั้งการตัดฟันหน้าอาจไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ แต่การกรอฟันด้านในจำเป็นต้องวางยาสลบ ทั้งนี้โรงพยาบาลสัตว์ดารินรักษ์เลือกใช้การดมยาสลบ ซึ่งมีความปลอดภัยต่อกระต่ายมากกว่าวิธีการฉีด และยังทำให้กระต่ายฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่า
- ใช้อุปกรณ์ง้างปากกระต่ายเพื่อให้กรามในปากของกระต่ายอ้าขึ้น
- คุณหมอรักษากระต่ายจะใช้อุปกรณ์กรอฟันกระต่ายในการเข้าไปกรอฟันของกระต่ายด้านใน และใช้เลื่อยตัดฟันกระต่ายเพื่อตัดฟันด้านหน้าของกระต่าย
ภาพเปรียบเทียบก่อน-หลังตัดฟัน
การตัดฟันของกระต่ายต้องทำอย่างระมัดระวังโดยสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ เนื่องจากว่าหากการตัดฟันหรือกรอฟัน โดยกระบวนการและเทคนิคที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลเสียทั้งฟันหัก รากฟันแตก หรือเกิดบาดแผลในปาก จนนำไปสู่การติดเชื้อที่รากฟันและเกิดฝีตามมา
การกินอาหารที่เหมาะสมต่อฟันกระต่าย
การป้องกันปัญหาฟันของกระต่ายเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงด้วยอาหารที่ถูกต้อง ซึ่งควรให้กระต่ายกินหญ้าแห้งที่มีคุณภาพและดีต่อฟัน เช่น Timothy Hay, Orchard Hay, Botanical Hay, Meadow Hay ซึ่งจะช่วยขัดกร่อนฟันอย่างสม่ำเสมอ เจ้าของควรตรวจสอบฟันของกระต่ายอย่างสม่ำเสมอ และปรึกษาสัตวแพทย์เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับฟันหรือการกินอาหาร หรือตรวจสุขภาพกระต่ายเป็นประจำทุกปี
โรงพยาบาลรักษากระต่าย
โรงพยาบาลรักษากระต่าย (Rabbit Clinic) ของ รพส ดารินรักษ์ รามอินทรา 14 กรุงเทพมหานคร มีหมอรักษากระต่ายเป็นสัตวแพทย์ประจำ ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสุขภาพกระต่าย ทำหมันกระต่าย ตัดฟันกรอฟันกระต่าย และตรวจรักษากระต่ายที่เจ็บป่วยจากอาการอื่นๆ เช่น กระต่ายตาอักเสบ กระต่ายเป็นโรคผิวหนัง เชื้อรา กระต่ายเป็นแผลที่เท้า โรคฝ่าเท้าอักเสบ กระต่ายเป็นหวัด ท้องอืด ท้องเสีย เป็นต้น
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital)
214 ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 10 (รามอินทรา 14) แขวงจรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230