ฝีรากฟันกระต่าย โรคกระต่ายฟันยาว
โรคฟันยาวในกระต่ายเป็นอาการที่สามารถพบได้มากในกระต่าย ซึ่งสัตวแพทย์สามารถรักษาโดยการกรอฟัน เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวดและไม่เป็นอันตรายต่อกระต่าย ทั้งยังส่งผลให้กระต่ายทานอาหารได้ดียิ่งขึ้น (เปรียบเทียบกับก่อนการตัดหรือกรอฟัน) หากปล่อยให้กระต่ายฟันยาวต่อไปโดยไม่พาไปรักษา อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีรากฟันในกระต่ายได้ และอาจทำให้การรักษายิ่งยากและนานขึ้นอีกด้วย เจ้าของกระต่ายไม่ควรตัดฟันกระต่ายด้วยตนเอง
กระต่ายฟันยาวเกิดจากสาเหตุอะไร?
กระต่ายนั้นจำเป็นต้องทานหญ้าเพื่อช่วยในการขัดหรือลับฟัน เพราะฟันจะงอกยาวตลอดเวลา เจ้าของสามารถพากระต่ายมาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการกรอฟันได้โดยการตัดฟันหน้าและการกรอฟันด้านใน โดยคุณหมอจะทำการตัดฟันด้วยเครื่องมือตัดฟันและกรอฟันโดยเฉพาะ จึงไม่ทำให้ฟันแตกหรือเกิดการบาดเจ็บของฟัน
หากปล่อยให้กระต่ายมีฟันยาวมากเกินไปจะทำให้กระต่ายมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีแผลหลุมในช่องปาก ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง เกิดภาวะท้องอืด ท้องเสีย ผอมลง น้ำหนักลดลง เป็นต้น
ในภาวะที่กระต่ายเกิดมีฟันยาวอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดเป็นฝีรากฟันกระต่าย โดยมีโอกาสที่ฟันบนและฟันล่างจะเบียดกัน ฟันบนจะยาวไปดันท่อน้ำตา ทำให้กระต่ายมีภาวะน้ำมูก-น้ำตาไหลตลอดเวลา บางรายตาบวมและเกิดฝีได้ ส่วนฟันล่างรากฟันยาวทะลุกระดูกกราม (Mandibular) ทำให้กระต่ายคางบวมและเกิดฝีรากฟันตามมา เวลาที่ใช้ในการรักษาก็จะนานมากขึ้น ฝีรากฟันเหล่านี้จำเป็นต้องให้สัตวแพทย์ทำการผ่าตัดเปิดแผลเพื่อล้างโพรงหนอง และใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย
สาเหตุที่กระต่ายฟันยาวทั้งที่กินหญ้าปกติ?
ในบางกรณีแม้กระต่ายจะกินหญ้าเป็นปกติ ก็อาจมีสาเหตุอื่นที่ทำให้กระต่ายฟันยาว ได้แก่
- การเคี้ยวที่ผิดปกติ: กระต่ายบางตัวอาจมีนิสัยชอบเคี้ยวข้างเดียว ส่งผลให้ฟันอีกข้างยาวกว่าปกติ
- อุบัติเหตุ: การตกกระแทก กัดกรง หรือได้รับบาดเจ็บที่ปาก ล้วนส่งผลต่อโครงสร้างและรากฟันของกระต่าย
- การติดเชื้อ: การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น บริเวณไซนัส ล้วนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของฟันกระต่าย
- ความผิดปกติของรูปฟัน: กระต่ายบางตัวอาจมีรูปฟันที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร
- โรคอื่นๆ: โรคบางชนิด เช่น โรคไต โรคตับ ส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหาร กระทบต่อการเจริญเติบโตของฟัน
- พันธุกรรม: กระต่ายบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงต่อปัญหาฟันยาวมากกว่าสายพันธุ์อื่น
- ปัจจัยอื่นๆ: อายุมาก ภาวะผอม ภาวะเครียด
การเอ็กซเรย์และการตรวจเลือด จึงมีความสำคัญในบางกรณีเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของภาวะฟันยาว เนื่องจากจะทำให้ทราบถึงโครงสร้างฟันกระต่าย ข้อมูลสุขภาพโดยรวม ภาวะแทรกซ้อน และ พันธุกรรมของกระต่าย เพื่อการรักษาที่แม่นยำยิ่งขึ้น
การรักษาฝีรากฟันกระต่าย
การรักษาฝีรากฟันกระต่ายมักใช้ระยะเวลานานกว่า 7-14 วันขึ้นไป ตามความรุนแรงและอาการของโรค หากฝีมีขนาดใหญ่และทะลุเข้าในช่องปาก การรักษาอาจยาวนานได้ถึง 1-2 เดือนเลยทีเดียว
ก่อนการรักษาผ่าตัดฝีรากฟันของกระต่าย สัตวแพทย์จะต้องมีการตรวจร่างกายเบื้องต้น ตรวจเอกซเรย์ ตรวจเลือด เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดเพื่อกรีดและเปิดผ่าฝี หลังจากการการผ่าตัดแพทย์จะนำฝีไปทำการเพาะเชื้อเพื่อดูความไวต่อยา และการตอบสนองต่อเชื้อของยาปฎิชีวนะแต่ละชนิด หลังจากนั้นจะมีการให้ยาลดปวด ลดอักเสบ ร่วมกับการล้างแผลทุกวันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเมินภาวะท้องอืด เนื่องจากการเจ็บป่วยสามารถกระตุ้นให้กระต่ายเกิดสภาวะท้องอืด ขับถ่ายน้อย ทานลดลงได้ หลังการผ่าตัด กระต่ายจึงต้องมีการป้อนอาหารเสริมในกลุ่มหญ้าผงละลายน้ำ หรือ critical care เพื่อป้องกันการขาดพลังงานและกระตุ้นให้ลำไส้ของกระต่ายทำงานได้ตามปกติ
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital)
214 ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 10 (รามอินทรา 14) จรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230