โรคหัวใจแมว (Heart Disease in Cat)
โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ (Hypertrophic cardiomyopathy ; HCM)
ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจในน้องแมวที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ เรียกว่า Hypertrophic cardiomyopathy (HCM) คือ ทำให้เกิดความผิดปกติไปทั้งโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ ทำให้ผนังหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว โดยไม่พบการขยายตัวของห้องหัวใจ
แมวที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหลายตัวมีภาวะความผิดปกติของโรคหัวใจนี้แต่ไม่แสดงอาการ มักไม่มีอาการที่เฉพาะสำหรับบ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจ มีเพียงอาการทางคลินิกที่พบได้ทั่วไป เช่น ซึม ทานอาหารหรือความอยากอาหารลดลง อาเจียน แสดงการหายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
อย่างไรก็ตามแมวส่วนมากที่เป็นโรคหัวใจชนิดนี้อาจจะไม่มีการแสดงอาการทางคลินิกใดเลย ทำให้การวินิจฉัยโรคหัวใจชนิดนี้ตรวจพบได้ยาก ซึ่งหากมีการทำวางยาสลบเพื่อผ่าตัดทำหมัน หรือทำหัตถการอื่นๆที่มีผลต่อระบบการหายใจ ระบบหลอดเลือดและหัวใจ มีการกระตุ้นให้เกิดความเครียดอื่นๆ เช่น การบังคับ การอาบน้ำ (โดยที่แมวขัดขืน ดิ้น หรือ หายใจหอบ) ก็อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ หรือหากมีอาการรุนแรง ในบางตัวจะแสดงออกได้ในภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) น้ำท่วมปอด และบางรายพบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (systemic arterial thromboembolism) ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
นอกจากนี้ มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าในน้องแมวบางสายพันธ์ ลักษณะเฉพาะคือกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นและอ่อนแรงลงทีละน้อย โดยยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด มีการค้นพบการ mutation ของยีนชนิด myosin-binding protein C mutation (MyBPC) ทำให้เกิดโรคหัวใจชนิด HCM ในแมวสายพันธุ์ Maine coon และ Ragdoll (มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โดยที่โครงสร้างและการทำงานยังปกติ)
การตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจอย่างเดียวในแมวอาจไม่สามารถแยกภาวะโรคหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติได้ การวินิจฉัยจึงต้องมีการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือื่นๆร่วม เช่น การถ่ายภาพรังสีช่องอก (chest X-ray), การทำเอคโค่ หรือ echocardiography รวมไปถึงการตรวจ Cardiac biomarker NT-proBNP เพื่อการวินิจฉัยที่สมบูรณ์ รวมถึงการรักษาที่ทันท่วงที ซึ่งการตรวจแต่ละแบบมีความแตกต่างกันออกไป
การตรวจโดยเครื่องเอกซเรย์ การถ่ายภาพรังสี
(Digital X-ray)
การถ่ายภาพช่องอกด้วยรังสีเอกซ์ใช้ในการตรวจวินิจฉัย ภาวะต่างๆ เกี่ยวกับทรวงอก อวัยวะภายใน และโครงสร้างข้างเคียง การถ่ายภาพรังสีทรวงอกเป็นการถ่ายภาพรังสีที่บ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง และช่วยในการวินิจฉัยโรคและภาวะต่างๆ ได้หลายอย่างเช่นเดียวกับการตรวจอื่นๆ
โดยเฉพาะหากเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่นภาวะโรคหัวใจ ถุงลมโป่งพอง ภาวะน้ำท่วมปอด ปอดติดเชื้อ น้ำท่วมเยื่อหุ้มปอด มะเร็ง รวมถึงภาวะอุบัติเหตุอื่นๆที่อาจมีผลต่อซี่โครงหัก หรือภาวะเลือดออกในปอด ซึ่งจะเป็นวิธีการที่วินิจฉัยได้รวดเร็ว
การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียง (Echocardiogram)
หรือ อัลตราซาวน์หัวใจ คือ การส่งคลื่นความถี่สูงที่มีความปลอดภัยต่อร่างกาย เข้าไปยังบริเวณทรวงอก ผ่านอวัยวะต่างๆ และจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ระบบจะนำพาข้อมูลที่สะท้อน ไปประมวลผลเป็นภาพ แสดง รูปร่าง ขนาด และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจได้อย่างชัดเจน การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง เป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับการประเมินการทำงานของหัวใจ การบีบตัวคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
จะใช้ระยะเวลาการตรวจอยู่ที่ประมาณ 20-30 นาที โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากแมว เนื่องจากการตรวจต้องนอนตะแคงเพื่อทำการตรวจเป็นระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นหากแมวมีภาวะหายใจเหนื่อยหอบ หรือยังอยู่ในภาวะหายใจกระแทก วิธีการตรวจนี้อาจทำในภายหลัง
เอคโค่หัวใจสามารถบ่งบอกอะไรได้บ้าง
- ประเมินผลของขนาดหัวใจ ว่ามีภาวะห้องหัวใจโตหรือมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว
- ดูจังหวะและลักษระการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อใจได้
- ดูลิ้นหัวใจหนาตัว ตีบ หรือการรั่วของลิ้นหัวใจได้
- ดูการไหลเวียนของเลือดในหัวใจ ความเร็ว และแรงดัน
- ดูก้อนเนื้อ ลิ่มเลือดอุดตัน ในหัวใจ
- ตรวจดูความผิดปกติของเยื่อหุ้มใจ
การใช้ Cardiac Biomarker (NT-proBNP)
ในภาวะปกติ ProBNP จะถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยรักษาสมดุลจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจมีการยืดตัวออก โดยจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อน ซึ่งปริมาณของเอนไซม์จะเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของความเสียหายของหัวใจ หรือตามการขยายขนาดของหัวใจเพิ่มมากขึ้น
การยืดหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจ จะทำให้ ProBNP ถูกตัดออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ NT-ProBNP และ C-BNP โดย NT-ProBNP จะมีระยะเวลาการคงตัวในกระแสเลือดยาวนานกว่า ทำให้นิยมตรวจหาปริมาณ NT-Pro BNP เป็นหลัก
ข้อดีของการตรวจวิธีนี้คือ ทำได้ค่อนข้างง่าย ตรวจได้รวดเร็ว ทำให้ง่ายต่อการจัดการและเฝ้าระวัง ในแมวกลุ่มพันธุ์ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ เช่น Maine coon และ Ragdoll สัตวแพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจก่อนทำการผ่าตัด จะช่วยทำให้สามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเนิ่นๆ รวมถึงช่วยประเมิน การป้องกัน และช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital)
214 ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 10 (รามอินทรา 14) จรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230