การรักษาแมวเป็นเชื้อรา (Skin Fungal Infections in Cats)
การรักษาแมวเป็นเชื้อรานั้นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเจ้าของที่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ทั้งในเรื่องของการจัดการสภาพแวดล้อมของการเลี้ยง การให้ยารักษาอย่างต่อเนื่องเหมาะสม รวมทั้งการรักษาอาการข้างเคียงอื่นๆควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น ความเข้าใจของผู้เลี้ยงจึงมีความสำคัญมากต่อการรักษา หากปฏิบัติได้ถูกต้อง เหมาะสม ก็จะช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อและประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เชื้อราในแมวสามารถติดต่อไปสู่คนได้ ดังนั้น ถ้าน้องแมวป่วยด้วยอาการต้องสงสัยของการติดเชื้อราดังข้อมูลในบทความ หมอขอแนะนำให้รีบพามาตรวจยืนยันและรักษาอย่างทันท่วงที
โรงพยาบาลสัตว์ดารินรักษ์ มีแผนกโรงพยาบาลแมว (Cat Clinic) ให้บริการโดยหมอรักษาแมวที่มีประสบการณ์ด้านการรักษาแมวเป็นเชื้อรา
รักษาแมวเป็นเชื้อรา
สาเหตุที่แมวติดเชื้อรา
แมวสามารถติดเชื้อราที่ผิวหนังได้และถือว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยหลักสำคัญแล้วมีปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อรา ได้แก่ ตัวเชื้อรา และ ภูมิคุ้มกันของตัวแมวเอง หมายความว่า หากมีความไม่สมดุลกันของสองปัจจัยนี้แล้ว แมวก็จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อรา เช่น แมวบางตัวสัมผัสเชื้อราจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง หรืออาศัยอยู่สภาพแวดล้อมที่มีเชื้อรา แม้จะเป็นแมวที่แข็งแรงสุขภาพผิวหนังดี ก็สามารถติดเชื้อได้ ในทางตรงกันข้าม หากเป็นแมวที่มีสุขภาพไม่ดี ภูมิคุ้มกันตก แม้จะไม่ได้สัมผัสเชื้อราจำนวนมากก็ยังมีโอกาสติดเชื้อราได้ ในวันนี้หมอขอยกตัวอย่างสาเหตุที่ที่มักพบได้บ่อยและทำให้แมวติดเชื้อรา ดังนี้
แมวภูมิคุ้มกันตก
แมวภูมิคุ้มกันตกมักเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวมีโอกาสเป็นเชื้อรามากยิ่งขึ้น ตัวอย่างชนิดเชื้อราที่มักพบ เช่น Microsporum และ Trichophyton เป็นต้น เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ระบบภูมิคุ้มกันเป็นเหมือนทหารป้องกันประเทศ หากระบบป้องกันไม่ดี ข้าศึกก็สามารถเข้ามาในประเทศได้ง่าย ส่วนสาเหตุที่ทำให้แมวภูมิคุ้มกันตกก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แมวอายุมากระบบต่างๆของร่างกายเสื่อมตามอายุขัย แมวอายุน้อยที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ แมวติดเชื้อไวรัสที่กดภูมิคุ้มกัน แมวขาดสารอาหารโภชนาการไม่เหมาะสม แมวที่มีภาวะความเครียด ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ทำลายความสมบูรณ์ของสุขภาพผิวหนัง เป็นต้น
แมวเป็นโรคผิวหนังอักเสบเนื่องจากเคยมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
แมวเป็นโรคผิวหนังผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมาก่อนหน้า โดยอาการผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้สุขภาพผิวหนังอ่อนแอ และเป็นสาเหตุที่ติดเชื้อราร่วมกัน หรือบางครั้งอาจเกิดในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ แมวติดเชื้อราที่ผิวหนังก่อนแล้วติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเข้ามา แต่ในทางปฏิบัติด้านการตรวจและรักษานั้น อาจแยกได้ยากว่า เชื้อรา หรือ แบคทีเรีย ได้ติดเชื้อเข้ามาสู่ตัวแมวก่อน ดังนั้น มักจะทำการให้ยารักษาทั้งสองตัวควบคู่กันไป
ผิวหนังมีความอับชื้นสูง หรือ อยู่ในสภาพแวดล้อมสกปรกอับชื้น
ผิวหนังที่มีความชื้นสูงไม่ว่าจะเป็นจากการอาบน้ำแล้วไม่เป่าให้แห้งสนิท หรือจากการที่แมวอยู่อาศัยในสภาพวดล้อมที่มีความเปียก อับชื้นสูง สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อราได้
ติดเชื้อราจากแมวตัวอื่น
มักเป็นการติดเชื้อโดยทางการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างแมวที่เลี้ยงรวมกัน หรือมีโอกาสไปสัมผัสกันกับแมวจร เป็นต้น สำหรับข้อนี้ เจ้าของที่เลี้ยงแมวหลายตัวรวมกันต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากหากมีตัวหนึ่งเป็นเชื้อรา ก็เป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้แมวตัวอื่นมาสัมผัส ดังนั้น การสังเกตอาการและเข้ารับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วงลดความเสี่ยงการกระจายเชื้อให้ตัวอื่นๆ
แมวเป็นเชื้อรามีอาการอย่างไร?
แมวติดเชื้อราวสามารถแสดงอาการออกมาได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อราที่ติดเชื้อ อาการทั่วไปที่พบในแมวที่ติดเชื้อรา ได้แก่
- แมวขนร่วง: หนึ่งในอาการที่ชัดเจนที่สุดของการติดเชื้อราในแมวคือการสูญเสียขนในบริเวณที่ติดเชื้อ บริเวณที่ขาดขนอาจมีลักษณะเป็นวงกลมหรือไม่ปกติ
- แมวมีอาการคัน: แมวที่ติดเชื้อราอาจมีอาการคันมากในบริเวณที่ติดเชื้อ ทำให้แมวเกิดพฤติกรรมการเลีย หรือเกา
- แมวผิวหนังแดง บวม หรือหลุดลอก: ผิวหนังในบริเวณที่ติดเชื้ออาจแสดงอาการการแดง บวม หรือหลุดลอกเป็นสะเก็ด บางครั้งอาจมีลักษณะแผลเยิ้ม ลักษณะแผลที่ถือว่าเป็นรอยโรคเฉพาะของการติดเชื้อรา คือ แผลวงกลมที่ตรงขอบมีลักษณะคล้ายผื่นแดงยกนูน และขยายวงออกกว้างขึ้นเรื่อยๆ
- ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่น: บางครั้งอาจมีตุ่มน้ำหรือผื่นปรากฏขึ้นบนผิวหนัง
- ขนแมวเปลี่ยนสีหรือรูปร่าง: ขนแมวอาจมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลง เช่น ขนไม่เรียบ ขนหลุดลอก จากการที่แมวคันและพยายามเกาหรือเลียจุดนั้นบ่อยๆ
- แมวผิวหนังเป็นแผลหรือแผลเปื่อย: ในกรณีที่รุนแรงหรือมีการติดเชื้อร่วมกับแบคทีเรีย อาจมีแผลหรือแผลเปื่อยปรากฏขึ้น และอาจมีกลิ่นแปลกๆที่บริเวณที่เป็นแผล
การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนต้องดำเนินการโดยสัตวแพทย์ ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจเพาะเชื้อราจากตัวอย่างผิวหนัง ขน ร่วมกับการใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น Wood lamp โคมไฟนี้จะใช้ส่องผิวหนังและขนบริเวณต้องสงสัยแล้วทำให้เห็นการเรืองแสงลักษณะเฉพาะของการติดเชื้อราได้ ทั้งนี้เพื่อทำการประเมินและตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด
วิธีการรักษาแมวเป็นเชื้อรา
วิธีการรักษาแมวติดเชื้อราต้องพิจารณาจากระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ หากเจ้าของทำได้ควรรีบแยกแมวที่ติดเชื้อออกจากแมวตัวอื่นๆ และเจ้าของควรงดการสัมผัสใกล้ชิดกับแมวติดเชื้อ ถ้าหากจำเป็นต้องมีการสัมผัส ควรล้างมือทำความสะอาดทุกครั้ง สำหรับในส่วนของสัตวแพทย์นั้น หากตรวจพบว่าแมวติดเชื้อราจริง คุณหมออาจพิจารณาให้ยากิน หรือ ยาทาเพื่อฆ่าเชื้อรา ร่วมกับยาอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ยาลดคัน แชมพูอาบน้ำกำจัดเชื้อรา หรืออาจมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
สำหรับแมวที่มีการติดเชื้อราในระดับที่ไม่รุนแรงหรือมีการแพร่กระจายน้อย สามารถใช้วิธีการรักษาจากภายนอก เช่น การพ่นสเปรย์ต้านเชื้อรา การทายาต้านเชื้อรา หรือการใช้แชมพูกำจัดเชื้อรา และควรทำการตัดขนในบริเวณที่ติดเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อราและทำความสะอาดง่าย ประสิทธิภาพการใช้ยาทาจะดีขึ้น
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital)
214 ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 10 (รามอินทรา 14) จรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230